เมื่อได้มีโอกาสเข้าเรียนในคอร์ส ESL หรือ English as Second Language ที่อเมริกา ทางอาจารย์ผู้สอนได้นำบทความที่เกี่ยวข้องกับ culture shock มาให้ได้อ่านกัน เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ก็คือ non native speaker ประทับใจบทความดังกล่าว จึงได้นำเอามาให้เพื่อน ๆ ได้รับทราบกัน กับอีกมุมนึงของ culture shock ส่วนที่มาของหนังสือนั้นไม่ทราบแน่ชัด เพราะทางอาจารย์นำฉบับที่ถ่ายเอกสารมาแจกอีกที
"You're going to the United States to live ? How wonderful! You're really lucky! ขึ้นต้นประโยคมาอย่างนี้รู้สึกคุ้นกันบ้างหรือเปล่าค่ะ ถ้าจะให้คุ้นก็ต้องนี่เลยค่ะ ว่ากันเป็นภาษาไทยบ้านเราเลย โอ้โห จะไปอยู่อเมริกาเหรอ ไปได้ไงอ่ะ อิจฉา อยากไปบ้างจัง โชคดีจริง ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันวันเด้อฟุลอย่างว่าจริง ๆ เหรอ ชีวิตของเราที่ตั้งใจจะมาเริ่มชีวิตใหม่ในประเทศใหม่นั้น จะสวยหรูและน่าตื่นเต้นอย่างว่าจริงหรือเปล่า แต่สำหรับคนที่มาเที่ยว มาดูงาน มาพักอาศัยในระยะสั้นนี่ไม่เท่าไหร่ แต่พวกที่มาอยู่เป็นปี หรือมาอยู่เลย ทางผู้เชี่ยวชาญด้านการปรึกษาความแตกต่างทางวัฒนธรรม ท่านได้ทำการศึกษาและกล่าวไว้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ กับการที่จะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมในประเทศที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน ซึ่งความรู้สึกนี้ รู้จักกันในนามของ Culture Shock
ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญได้จัดลำดับขั้นตอนของ culture shock ไว้สามขั้นตอนดังนี้ ขอใช้คำว่า new comer ในการเรียก ผู้ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ในประเทศ (ตามบทความ)
ระยะแรก เมื่อ new comer มาถึง แรก ๆ จะรู้สึกชอบทุก ๆ อย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัว ไปเที่ยวโน้นเที่ยวนี่ไม่เบื่อ ตื่นตาตื่นใจไปเสียหมด
ระยะที่สอง เมื่อ new comer เริ่มคุ้นเคยกับสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวแล้ว ก็จะเริ่มมีการเกลียดเมืองที่อยู่อาศัยเอง เกลียดประเทศที่มาอยู่อาศัย เกลียดผู้คนรอบ ๆ ตัว เกลียดอพาร์ทเม้นต์ที่อยู่อาศัย เกลียดทุก ๆ อย่างในประเทศนี้
ระยะสุดท้าย new comer ก็จะเริ่มปรับปรับกับทุก ๆ กับสิ่งที่อยู่รอบข้าง เริ่มใช้เหตุผลในการใช้ชีวิตมากขึ้น ประมาณว่า Life must go on และจะเริ่มมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด culture shock อย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ นั่นคือ เรื่องของอากาศ หนาวเกินไป ร้อนเกินไป อย่างหิมะไม่เคยเห็นก็อยากเห็น แต่พอสองอาทิตย์ผ่านไป ยังไม่หยุด ความรู้สึกคืออยากกลับบ้าน เดือนนึงแล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ก็เลยต้องทำใจ เพราะหน้าหนาวทีนี่ก็หกเดือนค่ะ ยิ่งไม่มีรถนี่ยิ่งลำบาก ต้องไปไหนมาไหนด้วยรถประจำทาง ซึ่งต้องเดินไปยืนรอที่ป้ายตอนอุณหภฺมิติดลบ เดินไปร้องไป น้ำตาที่ออกมาก็กลายเป็นน้ำแข็งติดกรังอยู่ที่ข้างแก้ม น้ำมูกก็แข็งเกรอะติดอยู่ในรูจมูก บางครั้งอากาศแห้ง ในรูจมูกนี่ เลือดแห้งกรัง ตอนนอนก็จมูกก็แห้ง หายใจไม่ออก ต้องหา normal saline มาพ่นจมูกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นหรือหาซื้อเครื่องเพิ่มความชื้น
บางครั้งเรื่องการแต่งตัวก็เป็นปัญหา พอหน้าหนาวทีก็ต้องห่อตัวยังกะแหนม ไม่ห่อก็ไม่ได้มันหนาว รองเท้าก็ต้องหารองเท้ากันหิมะ อาจจะต้องใส่ thermo underwear กันหนาว แต่พอเข้าในตัวอาคารก็ทำไงล่ะทีนี้ ก็ต้องถอดหอบกันไป บางทีไอ้ thermo underwear ก็ทำให้อึดอัดจะถอด ก็ขี้เกียจใส่กลับอีก แต่หน้าร้อนนี่สบาย แข่งกันเซ็กซี่กับสาวมะกันล่ะค่ะ ทีนี้
หรือบางทีระบบการบริการสาธารณะ (plublic service system) นี่มันก็ทำให้เราปวดหัวได้เช่นกัน เช่น พวกโทรศัพท์สาธารณะ ไปรษณีย์ หรือพวกรถประจำทางต่าง ๆ ถ้าเราศึกษาให้ดีก็ดีไป แต่ถ้าศึกษาไม่ดีนี่ก็ปวดหัวเอาการอยู่เหมือนกัน และพวกบริการเหล่านี้ พอเราจะใช้แต่เมื่อเราทำผิด เราก็จะกลัวไปอีกสักพัก ไม่กล้าใช้อีก สิ่งที่เราเคยทำได้อย่างง่าย ๆ ที่เมืองไทยอยู่นี่กลายเป็นยากไปเสียหมด ยิ่งทำผิดก็ยิ่งท้อ อย่างการใช้โทรศัพท์สาธารณะเนี่ย อยู่บ้านเราหยอดเหรียญบาท เหรียญห้า เหรียญสิบได้ อยู่ที่นี่ก็ต้องหยอด quater อย่างเดียวเหรียญไรเหรอค่ะ ก็ไอ้เหรียญยี่สิบห้าเซ็นต์ของเค้านี่ละค่ะ ไอ้เรามันก็รู้มาว่าใช้เหรียญยี่สิบห้าเซ็นต์ ก็หยอดไปจัง มันก็ไม่ได้ แต่มารู้ที่หลังว่า การหยอดก็ต้องหยอดอย่างต่ำสองเหรียญ
ภาษานี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา กี่ครั้งที่เราต้องพูดซ้ำ ๆ กับประโยคเดิม ๆ ที่เราคาดหวังว่าจะได้คำตอบกลับมา ครั้งหนึ่งเคยถามคนขับรถ " Are you going to Central Avenue?" แหม คำว่า avenue นี่มันออกเสียงยากอ่ะ คนขับรถบัส "what?" เราก็อายไม่กล้าถามมาก " Never mind " ขึ้นผิดก็ค่อยลงละกัน แต่จริง ๆ แล้วการใช้รถเมล์ของที่นี่ เค้าจะมีตารางเวลาและบอกเส้นทางที่ผ่านให้เสร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาไว้ก่อน
มาพูดถึงเรื่องอาหาร ตัวอย่างง่าย ๆ ก็อย่างผู้เขียนนี่ล่ะ แรก ๆ มาอร่อยอย่างเดียวคือ พิซซ่า เพราะว่า มันอร่อยกว่าบ้านเราจริง ๆ แต่ชีสเปล่า ๆ นี่กินไม่ได้ จะกินแซนวิซ ก็ร้องหาแคชชัพ ซอสมะเขือเทศนั่นเอง จนโดนฝรั่งล้อ พวก pickle นี่ก็ไม่แตะ มัสตาร์ทไม่กิน แต่ตอนนี้เหรอ ไม่อยากพูดถึง ชีสนี่กินเปล่า ๆ ยังได้ ถ้ากินกับแซนด์วิชนี่ก็ต้องมี pickle มีมัสตาร์ท ส่วนอะไรบ้างที่หอบมาจากเมืองไทยนะเหรอ อันแรกเลยคือ ครกส้มตำ หามะละกอในอเมริกาได้ไม่ได้ไม่รู้เว้ย ขอขนไปก่อนล่ะกัน ร้านไทยอาหารไทยก็หารสชาติแบบปากซอยไม่ได้ มีแต่ดัดแปลง จะสั่งสเต้กที่นี่ คำว่า steak เค้าก็คือ beef อะ ไม่เหมือนบ้านเรา มีหมด steak ปลา หมู เนื้อ ไก่ มาแรก ๆ ก็เอ๋อ เหมือนกัน พูดถึงอาหารแล้วก็ขอพูดถึงเรื่องทิปหน่อย ถือว่าเป็น culture shock ได้เหมือนกัน เพราะว่า แรก ๆ มานี่ทิปสองเหรียญนี่ก็เสียดายแล้ว แต่ไงได้ล่ะ เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม เดี๋ยวโดยด่าตามหลัง แต่ตอนนี้เหรอ ชินล่ะ ทิปแต่ละครั้งต้องอย่างน้อย 15%
ต่อมาก็มาถึงเรื่องรูปร่างหน้าตาไทย ๆ เอเชี่ยนอย่างพวกเราไม่ค่อยจะมีใครบอกถูกหรอกว่า เราเป็นคนชาติไหน เหมือนกันที่เราแบ่งแยกพวกฝรั่งไม่ออกเหมือนกัน ว่ามาจากอังกฤษ สวิส เยอรมัน หรือ เมกา เห็นหัวทอง ๆ ก็เหมาเป็นฝรั่งนั่นล่ะ จากหน้าตาสวย ๆ หัวดำอย่างเราที่มาเดินดุ่ม ๆ อยู่ในอเมริกา จริง ๆ แล้วอเมริกาก็มีคนหลายเชื้อหลายชาติ ยิ่งพวกแมกซิกันนี่เยอะจริง ๆ แรก ๆ มาเราก็จะรู้สึกว่าหน้าตาเรามันแปลกไปจากพวก native แถมไม่มีความมั่นใจเรื่องการสื่อสารอีก ก็เลยกลายเหมือนตัวประหลาด เดิน อยู่ก็รู้สึกเหมือนมีคนมอง เหมือนทุกคนที่รายล้อมตัวเรามองเรา เหมือนคนแปลกหน้า ทั้ง ๆ ที่ไม่มี ความจริง นั่นคือ ตัวเรานะล่ะ กำลังมองตัวเอง หรือเรียกง่าย ๆ คือ ไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองหรือประหม่านั่นเอง (self-conscious)
ใครกันบ้างล่ะในที่นี้ ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับ culture shock ก็ทุกๆ คนนั่นล่ะที่เคยประสบพบเจอมาแล้ว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งที่กล่าวมา culture shock เกิดได้กับทุกคน แต่โดยส่วนใหญ่ คนที่ culture shock แย่ ๆ ที่สุด ก็จะเป็นคนที่ใช้ชีวิตสบาย ๆ ที่เมืองไทยมาก่อน จะทำอะไรก็ง่ายไปหมด เป็นคนเก่งว่างั้น อยู่เมืองไทย มีงานดี มีเงินใช้ ประสบความสำเร็จในด้านการเรียน การงาน มีอะไรให้ทำยามว่าง แต่เมื่อย้ายมาอยู่ในอเมริกา หรือเมืองนอก ไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนกับที่เคยทำที่เมืองไทย ไม่มีงานดี ๆ วันหยุดจะออกไปเที่ยวทะเล บางแสนหรือพัทยา ที่นี่เหรอจะหาทะเลก็โน่นเลย สาม ชม หรือข้ามรัฐกัน ใครโชคดีหน่อยอยู่ใกล้ทะเล สถานที่เที่ยวก็ดีไป หรือการไม่ได้รับการยอมรับหน้าถือตาจากบุคคลรอบข้าง อาจจะเนื่องมาจากภาษา ขับรถไม่ได้ กลัวเพราะขับกันคนละด้าน ว่าแล้วก็อิจฉาคนจีนที่ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากในเรื่องของการขับรถ เพราะเค้าขับด้านเดียวกับอเมริกา
ดังนั้น การที่เรามาอยู่ในอเมริกา ต้องพยายามหาอะไรทำ ที่ทำให้เราคิดถึงเมืองไทยน้อยที่สุด หรือไม่มีเวลาคิดถึง พยายามทำอะไรให้ได้ด้วยตัวเอง ค้นหาตัวเองให้เจอว่าเราอยู่ตรงจุดไหน และก็จะต้องสร้างภาพใหม่ ๆ ที่ดี ๆ ให้กับตัวเอง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ให้ได้
อาการของ culture shock บางครั้ง ทำให้เรารู้สึกเหมือนเรากำลังหลงทาง สับสน และเป็นสาเหตุุุุุุุุทำให้เกิด homesickness อาการคิดถึงบ้าน ร้องไห้ เครียด รู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล (paranoia) ทำตัวเหมือนคนป่วย ไม่สบายตลอดเวลา เมื่อเรารู้สึกเช่นนั้นทำให้ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากเจอผู้เจอคน รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยเมื่ออยู่แต่ในบ้าน ไม่อยากพูดภาษาอังกฤษ อาการนี้เคยเป็น ถ้าวันไหนเจอคนพูดภาษาอังกฤษให้ฟังทั้งวัน จนตัวเองรู้สึกว่า พอแล้วไม่ไหวแล้ว ต่อให้ใครมาพูดด้วยแค่ประโยคง่าย ๆ ขนาดไหนก็ไม่รู้เรื่องแล้ว Leave me alone แล้วก็อยากจะพูดไทยมาก ๆ แต่การแก้ปัญหาเช่นนี้ เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ๆ ซึ่งการเก็บตัว ไม่พูด ไม่คุย จะพาลทำให้คุณไม่คุ้นเคยกับผู้คน กับวัฒนธรรมของประเทศเค้าและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทางแก้คือ ความคุ้นเคยและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ระยะเวลาที่ผ่านไป เหตุการณ์ที่ได้พบเจอ ในประเทศนี้จะช่วยให้คุยแก้ปัญหากับ culture shock ในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
เคยได้พูดคุยกับคนญี่ปุ่น เค้าเล่าให้ฟังว่า ตัวเค้ามีเคยแบบที่ว่ามา คือ liking , hating and adjusting ระยะเวลาการเกิดแต่ละระยะนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะปรับตัวได้มากแค่ไหน บางคนแค่ไม่กี่เดือนบางคนเป็นปี อย่างผู้เขียนนี่เรียกว่าเป็นปีเลยล่ะ คุยกันไปเค้าบอกว่า จริง ๆ น่าจะมีระยะที่สี่ด้วยนะ ระยะแบบว่า ไม่อยากกลับประเทศ เค้าอยู่ในอเมริกาประมาณ เจ็ดแปดเดือน ก่อนกลับไปญี่ปุ่น เค้าเล่าให้ฟังว่า ตอนเค้ากลับญี่ปุ่น รู้สึกเหมือนกับแปลกที่แปลกทาง ทุกอย่างรอบ ๆ ตัวจากที่เคยได้ยินแต่เสียงคุยภาษาอังกฤษใส่หูทุกวันก็กลายเป็นภาษาญี่ปุ่น จะหาว่าเพื่อนญี่ปุ่นคนนี้โม้ก็ไม่น่า ก็เคยได้ยินเหมือนกันว่า คนไทยที่อยู่อเมริกามานาน พอกลับไปเยี่ยมเมืองไทยก็อยากกลับเมกา พออยู่เมกาก็อยากกลับไทย อืม อย่างนี้ก็คงขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละคนเหมือนกันนะ แล้วจะเรียกระยะที่สี่ว่าอะไรดี <a href='http://www.usvisa4thai.com/' target='_blank'><span style='color:blue'>เข้าไปเยี่ยมชมได้ที่นี่</span></a>