หน้า 1 จากทั้งหมด 1

โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ ธ.ค. 30, 2005 9:20 am
โดย หมูแดง
ไข่พะโล้โบราณ โดย... หมูแดง

ไข่พะโล้สูตรนี้หมูแดงเรียกว่าไข่พะโล้โบราณ เพราะไม่ค่อยเห็นที่ไหนทำกันนักในสมัยนี้ โดยมากจะใช้ผงพะโล้เป็นเครื่องปรุงหลัก แต่ของบ้านหมูแดงไม่ใช้เลยค่ะ หลายต่อหลายคนเคยบ่นว่าอยากกินไข่พะโล้แต่ไม่รู้วจะทำยังไงให้อร่อย บางคนทำแล้วผงพะโล้ลอยฟ่อง ดูยังไงก็ไม่น่ากิน บางคนไม่ชอบกลิ่นผงพะโล้เอาซะเลย แต่ไข่พะโล้ก็ยังเป็นอาหารยอดนิยม เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี ไม่เชื่อลองสังเกตดูตามร้านขายข้าวแกงซิ ร้านไหนร้านนั้น ต้องมีไข่พะโล้เป็นเมนูประจำวัน

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เวลาแม่ทำไข่พะโล้ให้กินก็ไม่เห็นจะต้องใช้ผงพะโล้ที่ตรงไหน แต่แม่ใช้วิธีแบบโบราณคือผัดเครื่องให้ถึง แล้วเคี่ยวน้ำตาลให้ได้สีสวยเคลือบหมูและไข่ ไข่พะโล้ของแม่จึงหอมน้ำตาลเคี่ยว รสชาติออกหวานเค็ม ยิ่งเคี่ยวยิ่งอร่อย โดยเฉพาะเมื่อเราทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วละก็ ไข่ขาวจะแน่นๆ เหนียวๆ เด้งดึ๋งๆ อร่อยจริงๆ ไข่พะโล้สูตรโบราณของแม่มีแค่ไข่กับหมูสามชั้นเท่านั้นจริงๆ แม่ไม่เคยใส่เต้าหู้พวงในพะโล้ ไม่เคยใส่เห็ดหอม แม่ว่าอันนั้นมันเป็นพะโล้แบบจีน ไม่ใช่แบบไทย แต่หมูแดงน่ะชอบกินทั้งเต้าหู้พวงและเห็ดหอม ถ้าทำกินเองแต่ในหมู่เพื่อน ก็มักจะใส่ลงไปด้วย แต่ถ้าทำให้ที่บ้านกินก็ต้องทำแบบดั้งเดิม ไม่อย่างนั้นได้เห็นคนแก่งอนแน่ๆ หน้าตาของไข่พะโล้โบราณ ณ เมืองผู้ดี เป็นอย่างนี้นะคะ

รูปภาพ

มาเตรียมเครื่องปรุงกันดีกว่านะคะ วันนี้หมูแดงทำแล้วแบ่งให้คนไทยที่นี่เอากลับไปกินที่บ้านด้วย เพราะเห็นว่าลูกสาวเขาชอบกิน ไข่พะโล้นี่เป็นอาหารขวัญใจเด็กๆจริงๆนะคะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก ลูกสาวน้องคนนี้เขาเรียกไข่พะโล้ว่า Chocolate Egg ค่ะ

เครื่องปรุง

◊ ไข่เป็ด
◊ หมูสามชั้น
◊ สามเกลอ ๑ ช้อนกินข้าว (กระเทียม พริกไทย รากผักชี ตำละเอียด)
◊ น้ำตาลปี๊บ
◊ เกลือ
◊ ซีอิ๊วขาว
◊ โป๊ยกั๊ก
◊ อบเชย
◊ น้ำมันพืช

ไม่ต้องสงสัยนะคะว่าทำไมในสูตรไม่มีซีอิ๊วดำ สูตรนี้ไม่ใช้เลยค่ะ แล้วถ้าสงสัยว่าทำไมมันถึงดำได้ ก็ต้องตามมาดูกันค่ะ เริ่มจากต้มไข่ก่อนนะคะ ไข่พะโล้ที่อร่อยต้องใช้ไข่เป็ด แต่ที่อังกฤษหาไข่เป็ดได้ยากและแพงมาก วันนี้หาไม่ได้ก็เลยต้องใช้ไข่ไก่แทนค่ะ เอาไข่ใส่หม้อ ใส่น้ำตามลงไป ใส่เกลือนิดหน่อย ยกขึ้นตั้งไฟแรงๆเลยค่ะ หมูแดงใช้ไข่ ๑๒ ฟองนะคะวันนี้ ใช้ไข่เก่าถึงจะดีนะคะ เพราะจะทำให้ปอกเปลือกง่าย แต่ถ้าใครมีไข่ใหม่ ก็เอาไปวางผึ่งแดดไว้ซักชั่วโมงก่อนแล้วจึงเอามาต้ม ไม่อย่างนั้นมันจะติดเปลือก ไม่สวยค่ะ

รูปภาพ

ต้มให้เดือดซักครู่นะคะ เราไม่เอาไข่ยางมะตูมนะ ต้องต้มให้สุกไปเลย ก็ประมาณ ๑๐ นาทีหลังน้ำเดือดนะคะ จะปิดฝาหรือไม่ปิดฝาก็ได้ นอกจากสอนทำไข่พะโล้แล้ว ยังสอนต้มไข่อีกด้วยนะเนี่ย

รูปภาพ

พอไข่สุกแล้วก็เอามาแช่น้ำเย็นไว้ก่อนนะคะ

รูปภาพ

พอไข่เย็นจนปอกได้แล้วก็จัดการเลยค่ะ ปอกไข่ให้ผิวเกลี้ยงๆนะคะ ต้มแล้วจะได้สวยๆ

รูปภาพ

หมูสามชั้นที่ใช้วันนี้ค่ะ เลือกหมูที่มีเนื้อมากกว่ามันหมูนะคะ ไข่พะโล้จะได้ไม่เลี่ยนเกินไป หรือบางคนชอบขาหมู จะใช้เนื้อส่วนนั้นก็ได้นะคะ หมูแดงก็เคยทำเหมือนกัน ส่วนคนที่ไม่กินหมู จะใช้ปีกไก่แทนก็ได้นะคะ

รูปภาพ

ล้างหมูให้สะอาด ใส่กระชอนให้สะเด็ดน้ำ หมูแดงใช้หมูสามชั้นแบบติดหนังด้วยนะคะ ไม่ได้เลาะออก เวลาที่หนังหมูเปื่อยมันอร่อยดี ความชอบส่วนบุคคลค่ะอันนี้ ใครไม่ชอบจะเลาะทิ้งก็ไม่ว่ากันนะคะ คนที่กลัวมันหมูมากๆ อยากใช้หมูเนื้อแดงล้วนก็ตามใจ ทำกับข้าวมันต้องทำตามปากคนกินนะ ชอบแบบไหน ก็ทำแบบนั้น

รูปภาพ

หั่นหมูเป็นชิ้นโตๆนะคะ หมูแดงเคยเห็นร้านข้าวแกงบางร้านเขาหั่นหมูสามชั้นเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนทำแกงจืด คงเป็นเพราะเขาต้องการประหยัดละมั้ง แต่เราว่าหั่นเป็นชิ้นโตๆดูน่ากินกว่านะ ว่ามั้ย

รูปภาพ

หลังจากนั้นเราก็มาตำเครื่องพะโล้กัน เริ่มจากพริกไทยขาวก่อนนะคะ ใช้ประมาณ ๑ ช้อนชงกาแฟ ตำให้เป็นผงละเอียดยิบเลยนะคะ อย่าใจร้อนนะ วันนี้ให้น้องคนไทยช่วยตำ บอกว่าตำให้ละเอียดก่อน แต่น้องเขาไม่รอ คว้ากระเทียมใส่ครกไป หมูแดงหันมาเห็นว่าพริกไทยขาวมันยังเป็นเม็ด เป็นไตอยู่ เลยตักทิ้งแล้วให้ตำใหม่ ครกมันถึงดูเปียกๆไงคะ ก็มีบ่นนิดหน่อย แต่หมูแดงบอกว่าถ้าอยากกินของอร่อยก็ห้ามชุ่ย ทำกับข้าวมันต้องใส่ใจ และตั้งใจ มันถึงจะอร่อย จะมาทำชุ่ยๆไม่ได้หรอกนะคะ ถ้าขี้เกียจก็ไปซื้อเขากินเอา ไม่ต้องมาเสียเวลาทำ

รูปภาพ

พอพริกไทยละเอียดเป็นผงดีแล้วก็เอารากผักชีใส่ลงไปค่ะ ที่อังกฤษไม่มีรากผักชีขายนะคะ ผักชีที่มีขายเขาก็ตัดเหลือแต่ต้นกับใบเท่านั้น หมูแดงเลยไปถอนผักชีที่กระถางหน้าบ้านมา ได้รากเล็กๆมาอันหนึ่ง ตำยังไงก็คงไม่พอหอมไปได้ ก็เลยเอาลูกผักชีสีเขียวๆที่ต้นนั่นแหละ ใส่ลงไปด้วย ช่วยให้หอมเพิ่มขึ้นได้ค่ะ แต่ถ้าหาอะไรไม่ได้จริงๆ ก็ใช้ลูกผักชีแห้งนั่นแหละค่ะ ตำบดกับพริกไทยให้ละเอียด แก้ขัดได้เหมือนกัน

รูปภาพ

กระเทียมใส่ลงไปตำด้วยกันเลยค่ะ ถ้าใช้กระเทียมกลีบเล็กๆจะหอมกว่านะ ปอกเปลือกไม่ต้องให้เกลี้ยงเนียนอย่างนี้นะคะ เปลือกกระเทียมอ่อนๆมันจะหอม แต่อย่าหวังอะไรกับอาหารต่างแดน แค่หาซื้อกระเทียมได้นี่ก็บุญนักหนาแล้ว มีอย่างไหนก็ใช้อย่างนั้น กระเทียมกลีบใหญ่ เปลือกแข็ง ต้องปอกทิ้งให้เกลี้ยงค่ะ

รูปภาพ

ถ้าจะตำให้ละเอียดเร็วๆ ก็เอาเกลือเม็ดใส่ลงไปซักหน่อย ความคมของเม็ดเกลือจะช่วยให้ตำง่ายขึ้น ต้องตำสามเกลอให้ละเอียดยิบเลยนะคะ ห้ามขี้เกียจ เพราะถ้าตำหยาบๆ เวลาทำไข่พะโล้แล้วเครื่องตำมันจะแล่นใบลอยหน้าหม้อพะโล้ ไม่สวยค่ะ

รูปภาพ

ตำสามเกลอละเอียดดีแล้วก็ตักขึ้น เราใช้ประมาณนี้นะคะ ๑ ช้อนกินข้าว

รูปภาพ

ดอกจันทน์ (โป๊ยกั๊ก) กับอบเชย เตรียมไว้ด้วยค่ะ

รูปภาพ

เราเอามาห่อผ้าแล้วมัดให้แน่น เวลาเราต้มจะได้ไม่ลอยหน้า หมูแดงใช้ถุงชาค่ะ สะดวกดี

รูปภาพ

น้ำตาลปี๊บค่ะ แงะออกมาจากกระปุก มันแข็งมากๆเลย ต้องแงะออกมาก่อน ไม่อย่างนั้นไม่ทันค่ะ ใครใช้น้ำตาลปึกก็เอามาทุบให้แตกซะหน่อยก่อนนะคะ ไม่อย่างนั้นจะลำบากตอนผัดเครื่องค่ะ

รูปภาพ

เตรียมเครื่องทุกอย่างพร้อมแล้ว มาลงมือทำกันเลยค่ะ

รูปภาพ

เริ่มจากเอากระทะ หรือหม้อใบโตๆตั้งไฟ ใช้ความร้อนปานกลางนะคะ ใส่น้ำมันลงไปนิดหน่อย แล้วก็เอาสามเกลอลงไปผัดให้หอม

รูปภาพ

ผัดไปซักพักจนได้กลิ่นเครื่องตำหอมๆลอยมาเตะจมูก ยิ่งใส่รากผักชีเยอะๆ จะยิ่งหอมชวนกินมาก จะติดก้นกระทะนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ต้องตกใจนะคะ แค่ระวังอย่าใช้ไฟแรงเกินไป เพราะมันจะไหม้ ทำให้กลิ่นเพี้ยนไปค่ะ

รูปภาพ

พอเห็นว่าสามเกลอหอมดีแล้ว ก็ใส่น้ำตาลปี๊บลงไปค่ะ หมูแดงใส่ไปประมาณ ๒ ทัพพีก่อน ไข่พะโล้บ้านหมูแดงจะออกหวานเค็มนะคะ คนบางปะกงเขากินกันรสนี้ ใครไม่มีน้ำตาลปี๊บ ใช้น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลทรายขาวก็ได้ มีอะไรก็ใช้ไปเถอะ แต่ถ้าหาน้ำตาลปี๊บได้ก็จะดี เพราะรสชาติมันนุ่มนวล และกลิ่นหอมกว่าน้ำตาลทราย

รูปภาพ

ผัดน้ำตาลปี๊บให้เข้ากับเครื่องตำ สักครู่เดียวน้ำตาลปี๊บก็จะละลายแบบนี้ค่ะ ต้องผัดเรื่อยๆนะคะ ห้ามหยุดมือเด็ดขาด ระหว่างที่ผัดนี่ห้ามทำอย่างอื่นเลยนะ เผลอแป๊บเดียวไหม้นะ จะบอกให้

รูปภาพ

แล้วมันก็จะเดือดเป็นฟองแบบนี้ แต่ไม่ต้องกลัวนะคะ มันไม่กระเด็นหรอกค่ะ ผัดไปเรื่อยๆนะ

รูปภาพ

น้ำตาลปี๊บจะสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องตกใจ อาจจมีควันฉุยขึ้นมาบ้าง ก็เป็นเรื่องปรกติค่ะ

รูปภาพ

น้ำตาลปี๊บจะเริ่มไหม้ ประมาณนี้นะคะที่เราต้องการ คือน้ำตาลปี๊บจะยังเหลว ไม่จับตัวเป็นก้อน และสีเข้มๆแบบนี้ค่ะ

รูปภาพ

พอเราเคี่ยวน้ำตาลปี๊บได้ที่ตามที่เราต้องการแล้ว เราก็ใส่หมูลงไปเลยค่ะ

รูปภาพ

แล้วผัดเร็วๆให้เข้ากัน ให้สีน้ำตาลไหม้เคลือบหมูให้ทั่ว น้ำตาลอาจจะเริ่มจับตัวเป็นก้อนบ้างแล้วก็ไม่เป็นไรค่ะ ไม่ต้องตกใจ

รูปภาพ

เราไม่ผัดหมูนานนะคะ แค่พอให้น้ำตาลเคลือบ แล้วเราก็ใส่ไข่ต้มตามลงไปเลยค่ะ

รูปภาพ

ผัดให้เข้ากัน ให้น้ำตาลเคลือบไข่ อาจจะเคลือบไม่ทั่วเพราะน้ำตาลเป็นก้อนซะก่อนก็ไม่เป็นไรค่ะ

รูปภาพ

จากนั้นเราเติมน้ำเปล่าลงไปเลยค่ะ กะให้ท่วมมากหน่อย เพราะเวลาเราเคี่ยวมันจะแห้งลงอีก ตอนนี้ละค่ะที่จะจับผิดคนตำเครื่องสามเกลอไม่ละเอียดได้ สังเกตดูนะคะว่าจะไม่เห็นกลีบกระเทียมลอยหน้าเลย เพราะเราตำละเอียดดีแล้ว ถ้าใตรตำหยาบๆละก็ ได้เห็นกระเทียมแล่นใบ อายเขานะคะ

รูปภาพ

เอาห่ออบเชยใส่ลงไปค่ะ

รูปภาพ

กดให้มันจมๆลงไปหน่อย

รูปภาพ

เปิดไฟแรง ให้หม้อพะโล้เดือด ไม่นานหรอกค่ะ หมูแดงไม่ได้ปิดฝานะคะ เพราะมันเดี๋ยวเดียวเอง สังเกตสีไข่พะโล้ซิคะ ทั้งๆที่เรายังไม่ได้ปรุงรสอะไรเลย แต่สีของพะโล้ก็เข้มสวยแล้ว นั่นเป็นเพราะน้ำตาลปี๊บที่เราผัดเคี่ยวไงคะ ไข่พะโล้บ้านเราสีประมาณนี้แหละค่ะ

รูปภาพ

จากนั้นเราจะปรุงรสกันค่ะ สูตรเดิมของแม่จะปรุงรสด้วยเกลืออย่างเดียว แต่หมูแดงชอบกลิ่นของซีอิ๊วขาว ก็เลยปรับสูตรของแม่นิดหน่อย โดยใช้ซีอิ๊วขาวมาเป็นตัวชูรสด้วย หมูแดงใส่ลงไป ๒ ทัพพีค่ะ ที่บ้านใช้ซีอิ๊วขาวตราเด็กสมบูรณ์นะคะ ใครใช้ยี่ห้ออื่นก็ระวังหน่อย ใส่ไปทีละน้อยๆ รสอ่อนไปยังเติมได้อีก แต่ถ้าใส่ไปเยอะๆคราวเดียวจะแก้ไม่ได้นะคะ

รูปภาพ

ตอนตำเครื่องสามเกลอ หมูแดงใส่เกลือไปบ้างแล้วเพื่อช่วยให้ตำเครื่องง่าย ตอนปรุงรสก็เลยใส่อีกนิดหน่อย ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟค่ะ

รูปภาพ

ชิมรสดูนะคะว่าขาดอะไร หมูแดงต้องเติมซีอิ๊วไปอีกค่ะ เพราะรสหวานนำไปเยอะ ทำกับข้าวไทยมันต้องชิมนะคะ จะตวงให้เป๊ะๆ เท่านั้นช้อน เท่านี้ทัพพี มันยากค่ะ ถึงบอกว่าให้ค่อยๆเติม อย่าใส่ลงไปพรวดเดียว ใส่ทีละน้อยแล้วชิม ถ้าทำบ่อยๆก็จะเคยมือไปเอง รู้ว่าควรใส่อะไรเท่าไหร่ ชอบกินไข่พะโล้รสไหนก็ทำตามนั้นนะคะ แถวบ้านเรากินออกหวานก็ทำหวานนำ เค็มตาม แต่ที่อื่นอาจจะชอบเค็มมากกว่าหวาน ก็ทำตามรสปากคนกินค่ะ

รูปภาพ

พอชิมรสได้ที่แล้วก็ปิดฝาหม้อ ลดไฟลงเหลือแค่ไฟอ่อน แล้วเคี่ยวไปประมาณชั่วโมงกว่าๆ ไข่พะโล้ก็สุกพร้อมเสริฟ หมูเปื่อยพอดีๆ ตรงนี้มีเทคนิคมาแนะนำนิดหน่อยนะคะสำหรับคนที่ชอบกินไข่พะโล้ค้างคืน แบบไข่ขาวเนื้อเด้งๆ ก็ไม่ต้องเคี่ยวนานค่ะ แต่เราจะเอาพะโล้ตั้งไฟแรงๆประมาณ ๑๕ นาทีแล้วปิดไฟ ปิดฝาหม้อ อบไข่พะโล้ทิ้งไว้อย่างนั้นเลย แล้ววันรุ่งขึ้นเอามาอุ่นอีกที ถ้าหมูยังไม่เปื่อยมากนักเราก็เคี่ยวต่ออีกหน่อย ก็จะได้ไข่พะโล้ที่เนื้อไข่ขาวเด้งๆอย่างต้องการค่ะ แต่วันนี้หมูแดงทำแบบเสร็จแล้วกินเลย ก็เลยต้มเคี่ยวไฟอ่อนไปจนหมูสุกและเปื่อยดีค่ะ

รูปภาพ

หลังจากเคี่ยวไปประมาณชั่วโมงกว่าๆ ไข่พะโล้ของเราก็สุกพร้อมกินได้แล้วค่ะ สังเกตมั้ยคะว่าถึงเราจะไม่ได้ใช้ซีอิ๊วดำเลย แต่ไข่พะโล้ของเราก็สีดำได้ และไม่มีกลิ่นซีอิ๊วดำมากวนใจให้อาหารกลิ่นเพี้ยนด้วย

รูปภาพ

เสร็จแล้วค่ะ ไข่พะโล้โบราณ สูตรบ้านเราที่บางปะกง เชิญทุกท่านชิมได้เลยค่ะ

รูปภาพ

อันนี้รูปเก่าค้นเจอมา เลยเอามาให้ดูด้วยค่ะ เป็นพะโล้ตีนไก่นะคะ ทำสูตรเดียวกันค่ะ แต่ใช้ตีนไก่แทนหมูสามชั้น

รูปภาพ

นี่ก็รูปเก่าเหมือนกันค่ะ เป็นพะโล้ขาหมู หมูแดงเอาขาหมูมาเลาะกระดูกออก หั่นเป็นชิ้นโตหน่อย ต้มน้ำทิ้ง ๑ ครั้ง แต่ไม่ต้องเคี่ยวนะคะ แค่ต้มให้เดือดแล้วเทน้ำทิ้ง ล้างให้สะอาด แล้วเอามาทำพะโล้ค่ะ

รูปภาพ